ประเภทของการแปล
ลักษณะการแปลแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ ดังนี้
1. การแปลแบบตรงตัว (Literal Translation)
คือ การแปลที่พยายามรักษารูปแบบของการถ่ายทอดความหมาย (form) ของต้นฉบับไว้ในฉบับแปลให้มากที่สุดโดยไม่เปลี่ยนแปลง รูปแบบที่ว่านี้หมายถึง คำ วิธีในการเรียงคำในประโยค รวมไปถึงการใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่างๆ
ด้วย การแปลแบบนี้มักใช้ในงานที่ต้องการความถูกต้อง แม่นยำสูง เช่น
การแปลเอกสารกฎหมาย การแปลคำสอนหรือคัมภีร์ทางศาสนา หรือ
งานวรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์หรือมีข้อตกลงไว้ว่าห้ามมีการแก้ไข ดัดแปลง เพิ่มเติม
หรือตัดทอนงานวรรณกรรมนั้นๆ
2. การแปลแบบเอาความ (Free
Translation)
คือ การแปลโดยไม่เน้นรูปแบบโครงสร้าง
หรือลีลาการเขียนเหมือนการแปลแบบตรงตัว (Literal Translation) แต่มุ่งเน้นด้านของความหมายและความเข้าใจมากกว่า
โดยใช้วิธีการจับความหมายหรือใจความของต้นฉบับก่อน แล้วจึงถ่ายทอดสาระสำคัญจากต้นฉบับไปสู่ผู้อ่านงานแปล
ดังนั้น การแปลประเภทนี้อาจมีการปรับเปลี่ยน ย้ายตำแหน่ง รูปคำ
และข้อความทางไวยากรณ์
อาจมีการขยายความคำบางคำเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น
หรือตัดทอนคำบางคำเพื่อความสั้น กระชับ กะทัดรัด การแปลแบบนี้มักนิยมใช้ในงานที่ไม่ใช่งานวรรณคดี
ได้แก่ ข่าว บทความวิชาการ โฆษณาสินค้า บทความในนิตยสารจดหมาย
หรือการประชาสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม การแบ่งประเภทของงานแปลออกเป็น 2 ประเภทกว้างๆ เช่นนี้ อาจเป็นการมองธรรมชาติของภาษาอย่างหยาบเกินไป
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้แปลย่อมต้องแปลให้ซื่อตรงต่อต้นฉบับมากที่สุด
แต่ในบางครั้ง การถ่ายทอดความหมายอย่างซื่อตรงจนเกินไปจะทำให้ภาษาในฉบับแปล ทื่อ
แข็ง และแปลกแปร่งผิดธรรมชาติได้ นำมาซึ่งความหมายที่ไม่ชัดเจน
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว การแปลแบบคำต่อคำ กลับจะให้ผลเสียร้ายแรงกว่าการพยายามที่จะรักษาความหมายโดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเสียด้วยซ้ำ
นักทฤษฎีทางด้านการแปลจึงเห็นว่าทางสายกลางในการปรับบทแปล
คือการผสมผสานระหว่างการแปลทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน มิลเดร็ด ลาร์สัน กล่าวว่า ในความเป็นจริง
นักแปลไม่ใช้วิธีการแปลสองประเภทอย่างแบ่งขั้วกันชัดเจน แต่จะมีระดับของความเป็นอิสระในการปรับเปลี่ยนตัวบทในภาษาฉบับแปลบ้าง
เรียกว่า การแปลแบบดัดแปลง (Modified Literal) คือ
มีการเปลี่ยนโครงสร้างทางไวยากรณ์และการใช้คำบ้าง
เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่แปลกแปร่งผิดธรรมชาติ ผสมกับการแปลแบบสำนวน (Idiomatic
Translation) ซึ่งเป็นการใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติในภาษาฉบับแปล
โดยอาจจะผิดไปจากต้นฉบับ